วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ยึดทรัพย์

Karl Marx เป็นผู้ที่ Observe ประวัติศาสตร์และความเป็นมาของสังคมมนุษย์ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง อย่างกว้างขวาง ลึกซึ้ง ผู้หนึ่ง

เขาพบว่า การครอบครองทรัพย์สิน มักเป็นที่มาของ “อำนาจ” เสมอ ดังคำกล่าวที่ว่า “Power follows property”

เขาจึงเสนอให้ชนชั้นกรรมาชีพ เมื่อเข้ายึดอำนาจรัฐสำเร็จ ต้องยึดทรัพย์สินของเอกชนทั้งหมดให้ตกเป็นของรัฐด้วย แล้วค่อยให้รัฐทำการวางแผนเพื่อใช้ทรัพย์สินเหล่านั้น ให้เกิดประโยชน์ในการผลิต และนั่นเป็นหลักการสำคัญ หรือ “หัวใจ” ของการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์

Marx อาจผิด ในเรื่องการรวมศูนย์ “ทุน” เข้าสู่ส่วนกลาง เพราะระบบในอุดมคติที่พึงปรารถนาที่เขาสถาปนาขึ้นบนแผ่นกระดาษนั้น มันไปไม่พ้นกิเลสมนุษย์ ดังเห็นได้จากความล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ทั่วโลก แต่ทว่า ความเห็นเรื่องทรัพย์สินกับอำนาจ นั้น เขาไม่ผิดแน่ๆ

“การยึดทรัพย์” จึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่นักการเมืองฝ่ายมีเปรียบ นำมาใช้กับฝ่ายตรงข้าม เพื่อหวังขุดราก ถอนโคน อำนาจของฝ่ายปฏิปักษ์ ดังนั้น การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะต้องถูกยึดทรัพย์ ในส่วนที่เหลืออยู่ในเมืองไทย ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

อันที่จริง การยึดทรัพย์นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามนั้น มีมาช้านานแล้ว ใครที่เคยอ่านบันทึกของ Jeremias van Vliet ที่เขียนขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๑๗๙- พ.ศ.๒๑๘๓ ย่อมเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงใช้วิธี “ริบราชบาตร” กับขุนนางฝ่ายตรงข้ามเสมอ

นั่นหมายถึงการยึดแม้กระทั่ง เมีย บริวาร ทาส ช้าง ม้า วัว ควาย ให้ตกเป็นของแผ่นดินด้วย

ในการปฏิวัติเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น คณะราษฎร มิได้ทำการยึดทรัพย์ของฝ่ายเจ้าเลย แม้ว่า ผู้นำฝ่ายพลเรือนที่เป็น “มันสมอง” ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้น จะเป็นผู้ที่เลื่อมใสลัทธิสังคมนิยม (Socialism) และเข้าใจความคิดของ Karl Marx เป็นอย่างดี

เขาเพียงแต่เขียนรัฐธรรมนูญกีดกันมิให้ฝ่ายเจ้าเข้ามาสู่การเมือง เท่านั้นเอง แม้ต่อมา หลังเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” จะมีการยึดทรัพย์สินของฝ่ายเจ้า แต่ก็เป็นเพียงการเข้ายึดสิ่งที่เป็น “สัญลักษณ์” ของฝ่ายเจ้า เช่น วังบางขุนพรหม วังสุโขทัย วังสวนกุหลาบ วังปารุสกวัน เป็นต้น หาได้เข้ายึดทรัพย์สินส่วนใหญ่ของฝ่ายเจ้าทั้งหมดไม่ ยังคงอนุญาตให้ฝ่ายเจ้าได้รับค่าเช่า หรือดอกเบี้ย จากทรัพย์สินมรดกจำนวนมหาศาลต่อไป

นั่น อาจเป็นความผิดพลาดประการหนึ่งของนักการเมืองผู้กุมอำนาจในขณะนั้น ซึ่งต่อมาก็ได้ถูกฝ่ายเจ้าที่ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น ร่วมมือกับฝ่ายทหาร โค่นล้มลงไป โดยที่ผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน ที่เป็น “มันสมอง” ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าว ต้องประสบราชภัยและไม่ได้กลับมาประเทศไทยอีกเลย จนไปจบชีวิตลงที่กรุงปารีส ไม่ต่างจากผู้นำคนสำคัญของคณะราษฎรคนอื่นที่ประสบความเป็นไปต่างๆ นาๆ ในแบบของตนๆ

ไฮไลท์ของการยึดทรัพย์ฝ่ายเจ้าในครั้งนั้น อยู่ที่รัฐบาลซึ่งมีหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นฟ้องสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นจำเลยต่อศาล ว่าพระองค์ได้ทรงขนและโยกย้ายทรัพย์สมบัติและทรัพย์สินเงินทองออกจากประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย และต่อมาศาลก็ได้อายัดทรัพย์สินเงินทองส่วนพระองค์รวมทั้งวังสุโขทัยไว้ทั้งหมด

ต่อเรื่องนี้ สมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้มีพระราชหัตถเลขาถึงพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระโอรสบุญธรรม ว่า

“การที่เราคิดจะไปอียิปต์นั้นเป็นอันว่าเปลี่ยนไปไม่ได้แล้ว เพราะรีบกลับอังกฤษโดยที่เรามีแปลนว่าจะต้องรีบไปอินเดีย เล็กคงจะไม่ทราบว่าเราคิดจะไปอินเดีย แต่ที่คิดดังนั้นคือเกี่ยวกับเรื่องที่จะต่อสู้ความที่เราถูกฟ้องในศาลที่เมืองไทย เขาได้ส่งสำนวนฟ้องมาให้เราแล้ว และให้เราแก้สำนวนฟ้องภายใน 2 เดือน ฉันจะรีบให้Craig บินไปเมืองไทยต้นเดือนหน้าเพื่อไปปรึกษากับหมอความในเมืองไทยร่างคำแก้ฟ้อง การเตรียมการแก้ฟ้องนี้จำเป็นต้องให้ Craig ไปเมืองไทยเพราะมีอะไรต้องทำที่นั่นหลายอย่าง การที่ให้หมอความมาจากเมืองไทยไม่มีประโยชน์เท่า และพอทำร่างฟ้องเสร็จแล้ว Craig จะต้องบินมาให้เราเซ็น ถ้าต้องบินมาถึงอังกฤษก็แปลว่ามีเวลาอยู่ที่เมืองไทยวันเดียวเท่านั้น การอยู่อินเดียจึงเป็นประโยชน์ในการติดต่อกับเรามาก เพราะฉะนั้นเราอยากจะไปอินเดียโดยทางเรือในต้นเดือนหน้าเหมือนกัน และอาจจะไปอยู่ที่ Calcutta เราไม่อยากไปอยู่นานเลย แต่อยากจะอยู่จนรู้ว่าโจทก์เขาให้การต่อศาลว่าอย่างไร เพื่อฉันจะออกความเห็นในการแก้ความได้บ้าง เสร็จแล้วก็จะรีบกลับมา นึกว่าจะกลับมาได้ในเดือนกันยายน การไปอินเดียคราวนี้ เราคิดจะไปกับสมสวาท (สมสวาทคือชื่อของคุณรอง โชติกเสถียร) และมนัสก์เท่านั้น จะเลื่อนยศสองคนนั้นขึ้นเป็น secretary และ valet ที่จะทำดังนั้นเพราะไม่เปลืองเงิน และสองคนนั้นเขาดูแลเราได้ดีกว่าคนอื่นๆ มาก เพราะเป็นบ่าวได้ด้วย นอกจากนี้เรานึกกันว่าถ้าเราขึ้นไปด้วยที่เมืองไทย เขาคงหาว่าไปทำขบถแน่ ที่เลือกไปอินเดียก็เพราะไม่มีคนไทยที่นั่น และการติดต่อกับเมืองไทยเร็วเพราะมีเครื่องบิน ไม่เหมือนกับปีนังเป็นต้น แต่ที่เราจะไปนี้ทางเมืองไทยก็อาจจะ misunderstand กันได้ เพราะฉะนั้นฉันได้เขียนอธิบายเหตุผลอย่างยืดยาวไปที่ราชวังสัน (พระยาราชวังสัน ทูตไทยที่กรุงลอนดอน ค.ศ 1939) เพื่อให้แกรายงานไปเมืองไทย และบอกว่าถ้ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นที่เมืองไทยอย่าซัดให้เรา เพราะไม่รู้ไม่ชี้ เราจะสู้ความเท่านั้น แปลนต่างๆ เหล่านี้ อาจจะต้องเปลี่ยนไปอีกภายใน the next 24 hrs นี้ก็ได้ เพราะเหตุการณ์ของโลกได้เปลี่ยนเร็วเหลือเกินในเวลานี้..............” (อ้างจาก “ชีวิตเหมือนฝัน เล่ม 1” ของคุณหญิงมณี สิริวรสาร)

ทว่า ระหว่างนั้น ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้นเสียก่อน พระองค์ท่านจึงไม่ได้เสด็จไปอินเดียและก็ทรงแพ้คดี จนถูกยึดทรัพย์ที่เหลืออยู่ในเมืองไทยทั้งหมด โดยระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองนี้เอง พระองค์ท่านก็เสด็จสวรรคต

ถึงกระนั้น ทายาทของพระองค์ท่าน ก็มิได้ขัดสน เนื่องเพราะทรัพย์สินในต่างแดนได้ถูกบริหารจัดการโดย Trust Funds ที่มีบรรดาTrustees คอยดูแลให้ทั้งในแง่การลงทุนเพื่อดอกผลและการเบิกจ่ายอย่างเป็นระเบียบ

นักการเมืองสมัยนี้ ก็รู้จักซ่อนเงินและทรัพย์สินไว้ในต่างประเทศเช่นเดียวกัน แม้ชาตินี้จะไม่ต้องอนาทรร้อยใจ และลูกหลานก็ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องการหาเลี้ยงชีพอีกต่อไป ทว่า การถูกยึดทรัพย์ที่คงเหลืออยู่ในเมืองไทยนั่นแหละ คือปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้พวกเขาสูญสิ้นอำนาจทางการเมืองไปอย่างสิ้นเชิง


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกันยายน 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น