วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

แซยิด ด็อกเตอร์พอร์เตอร์ (Michael Porter)


ปีนี้ ไมเกิล พอร์เตอร์ (Michael E. Porter) มีอายุครบ 60 ปีพอดีๆ ถ้าเป็นคนไทยก็ต้องมีงานบุญเป็นการใหญ่เพราะถือว่าอายุครบ 5 รอบ และถ้าเป็นคนจีนก็ต้องจัดงาน “แซยิด” กันอย่างใหญ่โตโอฬาริก เช่นกัน แต่ไม่ว่าชาติไหนๆ ก็ต้องถือว่าคนอายุ 60 นั้น เป็นคนที่ย่างเข้าวัยชราแล้ว

สมัยก่อน คนอายุปูนนี้คงต้องพักผ่อนอยู่กับบ้าน ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ เลี้ยงหมา เลี้ยงแมว เลี้ยงปลา หรือช่วยเลี้ยงหลาน เลี้ยงเหลน ไปตามเรื่อง แต่สมัยนี้ สมัยที่ความรู้ทางด้านโภชนาการก้าวหน้า และเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวไกลเกินจินตนาการของคนรุ่นก่อน ทำให้ตัวเลข 60 ยังเป็นตัวเลขที่ยังเต้นระบำได้

พอร์เตอร์ก็เป็นคนหนึ่งที่ยัง Active อยู่มาก เพราะมิเพียงเขาจะไม่ได้อยู่กับบ้านเลี้ยงหลานให้กับลูกสาวทั้งสองแล้ว เขายังไปทำงานทุกวัน และยังสอนหนังสือและเขียนหนังสือแบบเต็มเวลา บริหารสถาบันวิจัย คุมการจัดสัมมนาใหญ่ปีละสองครั้ง เป็นผู้จัดการวงดนตรีร็อก อีกทั้งยังรับงานปาฐกถาและให้คำปรึกษาไปทั่วโลก ล่าสุด เขายังอุตสาห์คิดค้นวิชาใหม่ขึ้นมาสอนที่ต้นสังกัด Harvard Business School ชื่อ Microeconomics of Competitiveness ซึ่งฟังดูแล้ว ก็แปลกพิลึก แต่อะไรที่ฟังดูแปลกนี้แหละ ที่มักเป็นหัวเชื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในแวดวงวิชาการทางด้านบริหารธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่ความคิดภาพรวมดูเหมือนจะนิ่ง และหยุดชะงัก มาหลายปีแล้ว

หากย้อนดูประวัติการทำงานของพอร์เตอร์ เราจะไม่แปลกใจเลยสักนิด เพราะพอร์เตอร์มักทำอะไรแผลงๆ อย่างน้อยก็แปลกไปจากประเพณีทางปัญญาของ HBS เสมอ เขาเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ทางวิชาการอย่างน่าชมเชย ผลงานของเขาในอดีต ได้ช่วยเพิ่มสีสันและชีวิตชีวาให้กับแวดวง MBA อีกทั้งยังสร้างผลกระทบต่อแนวการสอนและบรรยายวิชา Business Policy หรือ Strategic Management อย่างลึกซึ้ง และก็แน่นอน วงการธุรกิจเอง ก็ย่อมได้รับผลกระทบนี้ไปอย่างจัง ผ่านทางวิธีคิดและปฏิบัติของผู้บริหารหรือพนักงานที่เคยเรียน MBA หรือเคยสัมผัสและซึมซับแนวความคิดของเขาจากหนังสือ บทความ และหลักสูตรฝึกอบรมต่างๆ Framework ของเขาช่วยเปลี่ยนมุมมองเชิงกลยุทธ์และการแข่งขันให้กับนักบริหารทั่วโลก

พอร์เตอร์เป็นคนเรียนหนังสือเก่ง เขาจบปริญญาเอกเมื่ออายุเพียง 25 ปี แล้วก็เข้าเป็นอาจารย์เด็กที่ Harvard Business School เลยทันที เขาอยู่ภายใต้ร่มเงาของ Edmund Learned, C. Roland Christensen และ Kenneth Andrew สามผู้บุกเบิกและพัฒนาวิชา Business Policy ที่โรงเรียนแห่งนั้น จนโด่งดังและโรงเรียนบริหารธุรกิจแห่งอื่นเอาเป็นแบบอย่างไปทั่วโลก หนังสือที่พวกเขาเขียนขึ้น Problems of General Management: Business Policy—A Series Casebook ก็เป็นตำรามาตรฐานของโรงเรียนบริหารธุรกิจทั่วโลกในขณะนั้น Kenneth Andrew ผู้นี้เองที่เป็นต้นคิดโมเดลวิเคราะห์ธุรกิจที่เรียกว่า SWOT หรือ Strength, Weakness, Opportunity, and Threat ซึ่งยังคงนิยมใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

ด็อกเตอร์พอร์เตอร์ ได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์หนุ่มที่ไฟแรง เป็นดาวอภิปราย ชอบการปะทะสังสรรค์ทางปัญญา และมักผลักดันแนวคิดตัวเองด้วยความร้อนแรงเสมอ ทั้งยังทำงานวิจัยแบบหามรุ่งหามค่ำ จนเวลาล่วงไป 2 ปี John McArthur ซึ่งตอนนั้นดำรงตำแหน่งรองคณะบดีของ HBS ก็เรียกเขาไปพบเพื่อแนะบางอย่าง ซึ่งทำให้เขาพลิกวิธีคิดไปอย่างสิ้นเชิง โดยหลังจากนั้นไม่นาน เขาก็สามารถค้นพบแนวทางของตัวเอง ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน

รองคณะบดีคนนี้เป็นคนที่ตามีแวว (ต่อมาเขาได้ขึ้นเป็นคณะบดีและได้สร้างคุณูปการไว้ให้กับ HBS หลายด้าน) เขามองเห็นศักยภาพบางอย่างในตัวพอร์เตอร์ เขาคงมองว่า ถ้าพอร์เตอร์ยังอยู่ภายใต้ฉายาผู้ยิ่งใหญ่เหล่านั้น ก็ยากที่จะเกิดได้ และก็น่าเสียดายความคิดของพอร์เตอร์ที่หลายอย่างมีลักษณะเป็น Original และสร้างสรรค์ ซึ่งถ้าได้รับการบ่มเพาะ ขัดเกลา และสนับสนุนอย่างเป็นระบบ ก็อาจจะสร้างผลกระทบต่อวงวิชาการ และเกิดประโยชน์กับฮาร์วาร์ดได้ไม่น้อย เขาจึงวางอนาคตให้พอร์เตอร์โดยขอโยกพอร์เตอร์ออกจากการเป็นผู้บรรยายในโปรแกรม MBA เพื่อมาประจำโครงการพัฒนาผู้บริหาร หรือ Program for Management Development

แรกๆ พอร์เตอร์ ก็ยังอิดออด เพราะรู้ว่าโปรแกรม MBA นั้นเป็นเส้นเลือดใหญ่ของ HBS การหลุดออกไปแบบนี้ เป็นเรื่องที่ทำใจลำบาก แต่ในที่สุดเขาก็ยอมทำตามแผนของ McArthur ที่ต้องการให้เขาได้พบปะ วิวาทะ และทดลองโมเดลกับบรรดานักธุรกิจชั้นนำจากทั่วโลก ที่แวะเวียนเข้ามาในโปรแกรม PMD ของฮาร์วาร์ด อีกทั้งยังให้ลดงานสอนลง เพื่อมุ่งงานวิจัย กับทีมสนับสนุนซึ่งก็คือบรรดานักศึกษาปริญญาเอกที่ชื่นชมในตัวเขา โดยมุ่งเน้นไปในเรื่องการวิเคราะห์โครงสร้างอุตสาหกรรมและการแข่งขัน เป็นหลัก

พอร์เตอร์กลับมาที่ MBA อีกครั้งเมื่อปี 2521 หลังจากซุ่มอยู่ถึง 3 ปี คราวนี้ McArthur ขึ้นเป็นคณะบดีแล้ว และได้เปิดโอกาสให้เขาสร้างวิชาใหม่ขึ้นมาสอนเอง ชื่อ Industry and Competitive Analysis ซึ่งเป็นวิชาเลือกสำหรับนักศึกษาชั้นปีสุดท้าย เขาสอนวิชานี้อยู่ 5 ปี กว่าเขาจะพัฒนาขึ้นเป็นหัวหน้าผู้บรรยายวิชา Business Policy I ได้ เพราะต้องรอให้ผู้ยิ่งใหญ่เหล่านั้นเกษียณไปเสียก่อน

กระนั้นก็ตาม วิชาที่เขาสอนกลับได้รับความนิยมและกล่าวขวัญกันมาก เขาจึงนำโมเดลวิเคราะห์อุตสาหกรรมที่เป็นหัวใจของแนวคิด ที่เรียกว่า Five Forces หรือ “พลังผลักดันทั้งห้า” มาเขียนเป็นบทความลงพิมพ์ใน Harvard Business Review เมื่อปี 2522 ทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังเป็นพลุแตก และอีกปีต่อมาเขาก็ต่อเติมเสริมแต่งอย่างละเอียด แล้วพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ Competitive Strategy: Techniques for Analyzing Industries and Competitors ซึ่งทำให้ชื่อชั้นของเขาก้าวพ้นความเป็นนักวิชาการธรรมดา ไปสู่ความเป็น Management Guru ชั้นแนวหน้าของโลก

ณ วันนั้น เขาเพิ่งจะมีอายุได้เพียง 32 ปีเท่านั้นเอง นับว่าเขาประสบผลสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งอันนี้ก็เป็นปัญหาหนึ่งของช่วงชีวิตที่เหลือของเขา

ความคิดของพอร์เตอร์นับเป็นเรื่องใหม่ในแวดวงบริหารธุรกิจขณะนั้น แม้ศัพท์แสงที่เขาใช้จะเป็นที่คุ้นเคยของนักเศรษฐศาสตร์มาก่อนแล้ว แต่ในวงการบริหารธุรกิจนั้นถือเป็นเรื่องใหม่ เขาสามารถดึงเอาความคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์จุลภาคให้ลงมาเชื่อมต่อกับแนวคิดเชิงกลยุทธ์ขององค์กรธุรกิจได้ เขาเป็นคนสร้างสะพานเชื่อมแนวคิดสองกระแส คือบริหารธุรกิจกับเศรษฐศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด เนื่องเพราะเขามาจากสองโลก ทั้งเคยเรียน MBA และต่อยอดด้วย Business Economics ตอนปริญญาเอก เขาหลีกเลี่ยงการอธิบายด้วยกราฟหรือสมการคณิตศาสตร์ ใช้ภาษาที่มีชีวิตชีวา และเข้าใจง่าย อย่าง Player, Entry Barrier, Mobility Barrier, Exit Barrier, New Entrant, Industry Attractiveness, Degree of Competition, Bargaining Power of Buyers and Supplier, Market Signal, Strategic Positioning, Cost Drivers, Switching Cost, Competitive Advantage, Competitive Strategy, Value Chain, Offensive Move, Strategic Group, Stuck in the Middle, Focus, Strategic Fit, ฯลฯ

โมเดลการวิเคราะห์อุตสาหกรรมของเขาได้รับการยอมรับอย่างสูง และพลิกแนวคิดในการวงกลยุทธ์ธุรกิจ ให้หันมาเน้นย้ำกับการแข่งขันและคู่แข่งขัน แทนที่จะมองแต่ตัวเองดังแต่ก่อน เขานำเอาแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์มาต่อยอดและทำให้ง่าย ว่าความน่าสนใจและดีกรีการแข่งขันในแต่ละอุตสาหกรรม จะขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งห้า คือ ภัยคุกคามจากผู้เล่นหน้าใหม่ พลังต่อรองของลูกค้า พลังต่อรองของซัพพลายเออร์ ภัยคุกคามอันเนื่องมาแต่สินค้าทดแทน และสภาวะการแข่งขันของแต่ละกิจการในอุตสาหกรรมนั้นๆ แทนที่จะพูดถึงตลาดแบบต่างๆ เช่น ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ ตลาดแข่งขันน้อยราย ตลาดผูกขาก ในลักษณะดุลภาพ ฯลฯ อย่างที่เคยพูดกันแบบแพร่หลายมาก่อนหน้านั้น อันนี้นับว่าผิดกับหนังสือเล่มแรกของตัวเขาเอง Interbrand Choice, Strategy and Bilateral Market Power ที่ยังพยายามอธิบายโครงสร้างการแข่งขันด้วยแนวคิดแบบเดิม และยังอธิบายมันโดยเส้นกราฟและสมการคณิตศาสตร์อยู่เลย นั่นหมายความว่า พอร์เตอร์ใช้เวลาเพียง 3 ปี ในการแสวงหาแนวทางของตัวเอง และเปลี่ยนวิธีนำเสนอให้เป็น “ภาษาคน” ซึ่งเขาต้องรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ John McArthur อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หลังจากนั้นอีก 5 ปี เขาก็ออกหนังสือเล่มต่อมา Competitive Advantage: Creating and Sustaining Superior Performance และเสนอโมเดลใหม่คือ Value Chain ที่มองธุรกิจว่าเป็นผลรวมของกิจกรรมหลายกิจกรรมทั้งที่ต่อเนื่องและไม่ต่อเนื่อง แต่เกี่ยวข้องและกุมกันเข้าเป็นองค์รวม ซึ่งการวิเคราะห์แบบนี้ เป็นการมองที่กิจกรรมพื้นฐานขององค์กรธุรกิจ เช่น การจัดซื้อ การออกแบบกระบวนงาน กระบวนการบริหาร เป็นต้น ต่างกับการมองในเชิงหน้าที่ เช่น การตลาด การเงิน การผลิต การบุคคล แบบเก่า เขามองว่าปมเด่นในการแข่งขันของธุรกิจ (competitive advantage) จะมาจากการออกแบบและจัดการกับ Value Chain ของตน นั่นเอง

ความคิดเรื่อง Value Chain ของเขานั้น ไม่เปรี้ยงปร้างเท่าที่ควร เพราะมันยังไม่ Breakthrough เหมือนกับความคิดอันแรก ที่เน้นเปิดสมองให้นักธุรกิจรู้จักมองออกไปนอกตัวอย่างมีเป้าหมาย รู้จักวิเคราะห์อุตสาหรรมด้วยแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ทรงพลัง รู้ว่าจะเปลี่ยนหรือมีอิทธิพลต่อโครงสร้างอุตสาหรรมได้อย่างไร รู้จักสังเกตพัฒนาการของอุตสาหกรรมว่าอยู่ในช่วงไหน ช่วงเกิด โต แก่ หรือกำลังจะตาย รู้จักสังเกตพฤติกรรมของผู้เล่นในอุตสาหกรรมแต่ละประเภทและแต่ละช่วง รู้จักวิเคราะห์คู่แข่งขัน ทั้งในเชิงจิตวิทยาและการอ่านใจคู่แข่ง แต่ความคิดเรื่อง Value Chain นั้นเป็นความคิดแบบมองย้อนเข้าหาตัว และไม่ได้ใช้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่พอร์เตอร์ถนัดเข้ามาช่วยยกระดับ อีกทั้งยังเป็นแนวคิดที่นักธุรกิจโดยทั่วไปคุ้นเคยและรู้ดีอยู่แล้ว เพราะคลุกคลีอยู่กับธุรกิจของพวกเขามาแทบจะทุกรายละเอียด จึงไม่จำเป็นต้องมาสมาทานเอาความคิดของพอร์เตอร์ไปใช้อีก

พอร์เตอร์นั้นเป็นนักเศรษฐศาสตร์ แม้เขาจะเรียนปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ แต่งานวิจัยและวิทยานิพนธ์นั้นเน้นไปทางเศรษฐศาสตร์ยิ่งกว่าธุรกิจหรือการจัดการ อาจารย์คนสำคัญและมีอิทธิพลต่อเขาก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญคือ Michael Spence เจ้าของรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง แต่พอร์เตอร์กลับไม่ได้รับการยอมรับในแวดวงเศรษฐศาสตร์เลย แม้เขาจะได้รับยกย่องอย่างมากในแวดวงบริหารธุรกิจและการจัดการ ถ้าเทียบกับคนรุ่นราวคราวเดียวกัน อย่าง Paul Krugman, Joseph Stiglitz, Lawrence Summers, Gregory Mankiw แล้ว จะเห็นว่าบรรดาคนเหล่านั้นต่างไปไหนต่อไหน ทุกคนได้รับรางวัล John Bates Clark Medal และบางคนก็ได้รับรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์แล้ว บางคนเคยเป็นถึงรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เป็นผู้นำสูงสุดของธนาคารโลก หรือหัวหน้าคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดี ซึ่งล้วนได้เข้าไปลิ้มลองกับการนำแนวคิดเข้าไปขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจในระดับประเทศและระหว่างประเทศ

กิเลสของนักเศรษฐศาสตร์คือเรื่องแบบนี้แหละ !

พอร์เตอร์ก็หนีเรื่องแบบนี้ไปไม่พ้น เขายังอายุสี่สิบต้น และเป็นที่นับหน้าถือตาในแวดวงธุรกิจ หนังสือที่เขาเขียนก็ล้วนแต่เป็นหนังสือระดับขายดี ค่าตัวในการบรรยายแต่ละครั้งก็สูงกว่าพรรคพวกที่กล่าวมา แต่เมื่อเขาให้ความเห็นในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ หรือเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กลับไม่มีใครฟัง หรือฟังก็ฟังแบบไม่ตั้งใจ เขาจึงทุ่มเทเวลาให้กับงานวิจัยชุดใหม่ที่เขาคิดว่าจะต้องข้ามพ้นข้อจำกัดที่ว่า และต้องเป็น Breakthrough Idea อีกครั้งหนึ่ง

เขาและทีมงานจำนวนมาก ทุ่มทำวิจัยอุตสาหกรรมสำคัญๆ ในหลายประเทศ อยู่หลายปี เพื่อที่จะยกระดับแนวคิดในเรื่อง Competitive Advantage ให้สามารถขึ้นชั้นไปอธิบายเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมุ่งหวังให้ผู้กุมนโยบายเศรษฐกิจของรัฐนำเอาแนวคิดของเขาไปเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจอีกด้วย นับว่าเขาคิดการณ์ใหญ่ไม่ใช่เล่น คือหวังจะเอาความคิดแบบเศรษฐศาสตร์จุลภาคและบริหารธุรกิจไปอธิบายปรากฏการณ์และเรื่องราวที่อยู่ในอาณัติของเศรษฐศาสตร์มหภาค หรือ Macroeconomics ซึ่งมีนักคิดรุ่นใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก

ผลของความพยายามดังกล่าว คือหนังสือเล่มสำคัญ The Competitive Advantage of Nations ที่พิมพ์ออกมาเมื่อ พ.ศ. 2533 ซึ่งสำหรับผมแล้ว ถือว่าเป็นที่สุดของความพยายามของเขา แนวคิดหลายอย่างในหนังสือเล่มนั้น มีอิทธิพลต่อผู้นำประเทศและผู้กุมนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในแถบประเทศกำลังพัฒนา ไม่น้อยเลย ผมเคยเดินทางไปสิงค์โปรเมื่อหนังสือเล่มนี้วางตลาดใหม่ๆ ช่วงนั้น กำลังมีการถ่ายทอดสดการประชุมสภาฯ ทันใดนั้น นายกรัฐมนตรีของสิงค์โปรเวลานั้น ก็ลุกขึ้นอภิปรายโดยอ้างอิงถึงหนังสือของพอร์เตอร์เป็นทำนองชื่นชม อันนี้ยังไม่นับอิทธิพลที่มีต่อผู้กุมนโยบายเศรษฐกิจไทยในยุคหนึ่ง แต่สำหรับในประเทศที่เศรษฐกิจก้าวหน้าและพัฒนาแล้ว ร่องรอยของอิทธิพลทางความคิดเขาดูเหมือนจะเบาบาง ผกผันกับดีกรีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจยังไงชอบกล

“Dynamic Diamond” โมเดลหลัก ที่ถูกวางให้เป็นตัวกำหนดความสามารถเชิงแข่งขันของประเทศ ที่เขานำเสนอในหนังสือเล่มนี้ ไม่แรงอย่างที่ตั้งใจไว้ หรืออย่างน้อยก็ไม่แรงเท่ากับ “Five Forces” หรือแม้แต่ “Value Chain” ที่เขาเคยเสนอไว้ในหนังสือสองเล่มก่อนหน้านั้น ทว่า แนวคิดเสริมที่เขาเสนอขึ้นมาในหนังสือ กลับได้รับการยอมรับและอ้างอิงถึงอย่างกว้างขวาง นั่นคือแนวคิดเรื่อง Cluster จนเขาต้องต่อเติมเสริมแต่งให้พิสดารออกไปอีกในหนังสือ On Competition ที่ออกในปี 2541 รัฐบาลในบางประเทศถึงกับออกนโยบายสร้าง Cluster เพื่อบ่มเพาะธุรกิจตามแนวทางของเขา

พอร์เตอร์ได้ชี้ให้เห็นว่า การจะพัฒนาเศรษฐกิจนั้น มิได้จำกัดอยู่แต่การใช้ปัจจัยการผลิต คือที่ดิน แรงงาน ทุน อย่างที่เข้าใจกันมาตั้งแต่ยุคสมัยของ Adam Smith และ David Ricardo แต่มันยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นอีกหลายประการ อย่างเช่น ความเชี่ยวชาญพิเศษ ลักษณะของดีมานด์ภายในประเทศ และโครงสร้างของอุตสาหกรรมเกี่ยวข้อง ตลอดจนโครงสร้างการแข่งขันและจัดการในแต่ละอุตสาหกรรม (นี่แหละ ที่เขาเรียกว่า Dynamic Diamond) ซึ่งรัฐบาลหรือผู้กุมนโยบายเศรษฐกิจจำต้องศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อที่จะยื่นมือเข้าไปปรับแต่ง ปรุงแต่ง และหันเห หรือผัน ให้ปัจจัยเหล่านั้น เกิดสภาวะที่เป็นคุณ หรือเป็นเนื้อนาบุญ กับสมรรถนะเชิงการแข่งขันของแต่ละบริษัทในแต่ละอุตสาหกรรมภายในประเทศ ซึ่งก็จะส่งผลต่อความสามารถเชิงแข่งขันของประเทศโดยรวมในที่สุด

พอร์เตอร์ให้ความสำคัญกับสถานที่ตั้ง หรือ Location ว่ามีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างสมรรถนะเชิงแข่งขันของธุรกิจ อย่างกิจการในคลัสเตอร์ไฮเทคแถว Silicon Valley ที่ถึงแม้จะแข่งขันกันเองอย่างรุนแรง แต่ก็ร่วมรับประโยชน์จากความรู้ใหม่และแหล่งเงินทุน ตลอดจนความประหยัดจากการร่วมมือกันสั่งซื้อวัตถุดิบ อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานทุกด้านในคลัสเตอร์นั้น ฯลฯ แนวคิดอันนี้แหละ ที่เป็นต้นแบบของโมเดล “Co-opetition” ที่ลูกศิษย์ลูกหาของพอร์เตอร์ได้คิดต่อยอดออกไปอย่างพิสดารในภายหลัง

The Competitive Advantage of Nations ถือเป็น Peak ของชีวิตพอร์เตอร์ ช่วงเวลาที่เขา Bright ที่สุด ความคิดความอ่านเปล่งประกายที่สุด ได้ถึงจุดสูงสุดที่ผลงานชิ้นนี้เอง แม้ว่าหลังจากนั้น เขาจะเขียนหนังสืออีกหลายเล่ม และบทความอีกหลายสิบบทความ ด้วยประเด็นที่หลากหลายออกไปกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายสุขภาพ เรื่องการกลยุทธ์การบริจาค หรือแม้กระทั่งภาวะโลกร้อน แต่ก็หาได้มีความคิดใหม่ที่มีลักษณะเป็น Breakthrough Idea ไม่ แม้ความเห็นบางเรื่องของเขาจะควรค่าแก่การสำเหนียก ก็ตามที

สำหรับผมแล้ว ผมสนใจงานที่เกี่ยวเนื่องกับสมรรถนะเชิงแข่งขันของประเทศหรือรัฐต่างๆ ผมจึงคิดว่าผลงานช่วงหลังของเขาที่ดีและมีประโยชน์ น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่เขาเขียนขึ้นร่วมกับบรรดาลูกศิษย์ลูกหา เพื่อเอาไว้ประกอบการบรรยายที่ HBS ซึ่งหลายๆ ชิ้น เป็นงานวิจัยที่ละเอียด และอาศัยความทุ่มเทในการเก็บข้อมูลที่มีประโยชน์ แม้จะอาศัย Framework เดิมในการวิเคราะห์ก็ตาม อย่างงานสองชิ้นล่าสุดที่เราเลือกมาลงใน MBA ฉบับนี้ ก็เป็นการลงไปศึกษาสมรรถนะเชิงแข่งขันของประเทศ Latvia และ Iceland อย่างค่อนข้างละเอียด และน่ายกย่องในความพยายาม เหมาะกับการอ่านเทียบเคียงงานหลักที่งอกมาจากการวิจัยอุตสาหกรรมสำคัญใน 7 ประเทศเมื่อสิบกว่าปีก่อนของเขาเอง ซึ่งจะทำให้เราเห็นพัฒนาการทางความคิด และการต่อยอดจากงานหลักในบางประเด็น

ผมเดาว่า ในใจของพอร์เตอร์ลึกๆ เขายังโหยหาความยอมรับนับถือในแวดวงเศรษฐศาสตร์ ที่เขาคิดว่าเขายังได้รับน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับสิ่งที่เขาคิดและทิ้งไว้ให้วงการนั้น ชื่อวิชาปัจจุบันของเขา Microeconomics of Competitiveness แสดงถึงปมด้อยดังว่านั้น

นานมาแล้ว ผมเคยอ่านสุนทรพจน์ของ Harry Markowitz ขณะรับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ที่สวีเดน เขากล่าวความในใจตอนหนึ่งว่า สมัยที่เขากำลังจะจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยชิคาโกในครั้งกระโน้น Milton Friedman ซึ่งเป็นหนึ่งในอาจารย์ผู้ควบคุมการสอบ คัดค้านว่าไม่ควรประสาทปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ให้แก่เขา เพราะวิทยานิพนธ์ที่เขาทำเรื่อง Portfolio Theory นั้น มัน “ไม่ใช่” หรือ “ไม่เป็น” เศรษฐศาสตร์ ผมคิดว่า เขาต้องกล้ำกลืนกับความเห็นดังว่านั้นอยู่จนบั้นปลายของชีวิต ถึงยังจดจำและนำมากล่าวให้โลกได้รับรู้ ทั้งๆ ที่โลกการเงินและโรงเรียนบริหารธุรกิจทั่วโลกยอมรับแนวคิดเรื่อง Portfolio Management ของเขาอย่างพร้อมเพรียงมาช้านานแล้ว จนมีคนช่วยคิดต่อยอดไปถึงไหนต่อไหน แต่แวดวงเศรษฐศาสตร์กลับยังดูแคลนหรือไม่กล้ายอมรับอย่างเปิดเผย

ผมเห็นว่า พอร์เตอร์เอง ก็กำลังต้องการพิสูจน์อยู่อย่างขะมักเขม้น ว่าแนวคิดเรื่องการแข่งขันทั้งหลายแหล่ที่เขาคิดและเรียงร้อยขึ้นอย่างเป็นระบบนั้น เป็นเศรษฐศาสตร์ ด้วยเช่นกัน


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
20 กุมภาพันธุ์ 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น